วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิธีเอาชนะความกลัว ตอน 3

แอบดองเรื่องนี้มาซะหลายวัน วันนี้เลยรีบปั่นส่งก่อน
เมื่อตอนที่แล้ว กล่าวถึงวิธีการเอาชนะความกลัวแบบที่สอง
คือ การย้ายความสนใจของจิตไปอยู่ที่สิ่งอื่น 
จิตก็จะลืมที่จะกลัว ไปได้ช่วงหนึ่งๆ
ตราบเท่าที่ความสนใจ ในสิ่งนั้นๆยังแรงกล้ากว่า ความกลัว
อย่างไรก็ตาม ความกลัวก็ยังไม่หมดไป
แค่ระงับให้ไม่กลัวได้ชั่วขณะหนึ่งๆที่จิตมุ่งความสนใจไปที่สิ่งอื่น

วิธีเอาชนะความกลัวแบบที่สามนั้น
ได้ถูกกล่าวเอาไว้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด และอาจจะง่ายและเหมาะที่สุดในการทำให้เกิดผล
นั่นคือ...การตัดที่ต้นเหตุแห่งความกลัวเสีย
สองวิธีแรก คือการข่มความกลัว โดยการพึ่งพาสิ่งภายนอก
แต่ไม่ได้ตัดที่ ต้นตอของปัญหา หรือก็คือที่มาของความกลัว
ดังนั้น พอสิ่งภายนอกนั้นๆ
ไม่สามารถพึ่งได้ ก็ต้องหาสิ่งใหม่อยู่เรื่อยไป


...มีเรื่องเล่าอยู่ว่า
มีชายผู้หนึ่ง เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก
จึงตัดสินในออกบวช และตั้งปณิธานกับตนเองว่าจะบวชไม่สึก
และเพราะต้องการหาความสงบเพื่อปลีกวิเวก และปฎิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่
จึงเลือกที่จะอยู่กระท่อมในสุดของวัด ซึ่งเป็นกระท่อมร้าง ไม่ค่อยมีผู้คน
วันที่เข้าไปจำวัด ก็จัดการปัดกวาดเช็ดถูจนสะอาดสะอ้าน 
แต่ระหว่่างที่กำลังทำความสะอาดนั้น ก็เจอหนูตัวหนึ่งวิ่งผ่านไป
ด้วยความที่ภิกษุรูปนี้กลัวหนูมากตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นฆราวาส จึงปราสว่า
เจ้าหนูตัวนี้จะเป็นสิ่งรบกวนการปฎิบัติธรรมของเรา 
เพราะทุกครั้งที่หนูตัวนี้โผล่มา เราก็จะหวาดกลัวจนไม่สามารถทำจิตให้นิ่งได้
ดังนั้น ภิกษุจึงตัดสินใจหาทางแก้ไม่ให้หนูโผล่มา โดยการนำแมวมาเลี้ยง
ซึ่งปรากฎว่าได้ผลดี เพราะหนูก็ไม่กล้าโผล่เข้ามาในกุฎิอีก
แต่กลับเกิดปัญหาใหม่ เพราะเมื่อมีแมว
ภิกษุก็ต้องง่วนกับการเลี้ยงแมว 
คอยหาข้าวหานำ้ให้กิน คอยดูแลไม่ให้แมวเล่นซนบนกุฎิจนสกปรกเละเทะ
พระภิกษุก็พบว่าตนเสียเวลาไปวันๆหนึ่ง กับการคอยดูแลแมว 
จนไม่เหลือเวลาไปมุ่งมั่นกับการปฎิบัติธรรม
ดังนั้น จึงตัดสินใจ จ้างเด็กสาวชาวบ้าน ซึ่งบ้านอยู่ละแวกนั้น ให้ช่วยดูแลแมว
เด็กสาวมาคอยดูแลแมวให้เป็นอย่างดีทุกวัน ซ้ำยังช่วยทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูกุฏิให้
ด้วยความที่เห็นหน้ากันทุกวัน ความสนิทสนมของทั้งสองก็เริ่มเกิดขึ้น
วันหนึ่งภิกษุก็เผลอไผล มีความสัมพันธ์กับเด็กสาว
จนต้องสึกออกมา เพื่อแต่งงานอยู่กินกับเด็กสาวแทน
สุดท้ายต้องมานั่งเสียใจว่า
เพียงแค่หนูตัวเดียว ทำให้ไม่สามารถตั้งใจปฏิบัติธรรม ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรกได้...


จะเห็นว่า ภิกษุพยายามแก้ปัญหาความกลัวของเขา โดยพึ่งพาจากปัจจัยภายนอก
ซึ่งไม่สามารถที่จะควบคุมได้
พอปัญหาเกิดขึ้น ก็แก้โดยพึ่งพาปัจจัยภายนอกอีก 
และก็วนเวียนอยู่แบบนั้นไม่รู้จบ

ซึ่งในแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่ง่ายที่สุดในการจัดการปัญหานี้คือ การจัดการที่ต้นเหตุ
หรือความกลัวของภิกษุรูปนี้นั่นเอง

โดยอันดับแรกคือการหาสาเหตุว่าเพราะอะไรถึงกลัว
ซึ่งคำตอบอาจมีมากมาย หลายประการ
แต่แท้ที่จริงนั้น ความกลัวก็เป็นสิ่งที่ เกิดมาจากมูลเหตุอันสำคัญอันเดียว
เพราะว่า ความกลัว ก็เป็นพวกเดียวกันกับ ความหลง (โมหะ หรือเข้าใจผิด)
มูลเหตุอันเดียวที่ว่านั้น ก็คือ อุปาทาน  

ความยึดถือต่อตัวเองว่า ฉันมี ฉันเป็น นั่นของฉัน นี่ของฉัน เป็นต้น  
เมื่อมี "ฉัน" ขึ้นมาในสันดานแล้ว "ฉัน" ก็อยากนั่น อยากนี่
อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยากไม่ให้ เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ 
ฉันกลัวโดนทำร้าย กลัวเจ็บ กลัวตาย หรือ กลัวต่างๆนาๆ
ความยึดถือว่า ฉันเป็นฉัน เหล่านี้เป็น มูลเหตุของความกลัว
ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ก็กวาดความสดใส ชุ่มชื่นเยือกเย็น ให้หมดเตียนไปจากดวงจิตนั้น 

เมื่อพบว่า ต้นเหตุของความกลัว ที่แท้จริงนั้น ก็มาจาก "ฉัน" 
ต่อมาคือ การจะตัดต้นเหตุนั้น 
โดยแบ่งลำดับการกระทำ ออกเป็นสองชั้น
ตามความสูงต่ำ แห่งปัญญา หรือความรู้ ของคนผู้เป็นเจ้าทุกข์ 

ประการที่ได้ผลเร็วและตรงที่สุด คือการตรงเข้าทำลาย อุปาทาน 
สำเร็จได้ด้วยการปฏิบัติธรรมทางใจ ให้ก้าวหน้าสูงขึ้นตามลำดับๆ
จนกว่าจะหมดอุปาทาน
ซึ่งเมื่อทำลายได้แล้ว
ความทุกข์ทุกชนิด จะพากันละลายสาบสูญไปอย่างหมดจด
 ผู้ที่สามารถทำประการนี้ได้สำเร็จ คือผู้ที่บรรลุพระธรรม
หรือคือพระอรหันต์
ดังนั้นวิธีการนี้ยังไม่เหมาะสำหรับปุถุชนทั่วไป

อีกวิธีหนึ่งคือ การพยายาม เพียงบรรเทาต้นเหตุให้เบาบางไปก่อน
ได้แก่ การสะสางมูลเหตุนั้น ให้สะอาดหมดจด ยิ่งขึ้น
การพยายาม ประพฤติ ความดี ทั้งทางโลก และทางธรรม
ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ จนตนติเตียนตนเองไม่ได้ 
ใครที่เป็นผู้รู้ แม้จะมีทิพยโสต หรือทิพยจักษุ มาค้นหา ความผิด เพื่อติเตียนก็ไม่ได้ 

ดังนี้แล้ว ก็จะเป็นผู้เชื่อถือ และเคารพตัวเองได้เต็มเปี่ยม 
ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนท่าน
ไม่มีเวรภัยที่ผูกกันไว้กับใคร   
เป็นผู้รู้กฏความจริงของโลก 
มีความหนักแน่น มั่นใจให้แก่ตัวเอง ในหลักการครองชีพ และรักษา ชื่อเสียง
หรือคุณความดี 
พยายามทำแต่สิ่งที่เป็นธรรมด้วย ความหนักแน่น เยือกเย็น
ไม่เปิดโอกาสให้ใครเหยียดหยามได้ ก็จะไม่ต้องเป็นโรคใจอ่อน หรือโรคประสาท
เพราะมีความ แน่ใจตัวเอง เป็นเครื่องป้องกัน และสำเหนียก อยู่ในใจ เสมอว่า
สิ่งทั้งปวงเป็น อนัตตา เป็นไปตามเรื่อง คือ เหตุปัจจัยของมัน ไม่เป็นของแปลก
หรือได้เปรียบ เสียเปรียบ อะไรแก่กัน 
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความกลัว ก็หมดไป 
ใจได้ที่พึ่ง ที่เกษม ที่อุดม ยิ่งขึ้น  

  
สมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนไว้ดังนี้
ผู้ใดที่ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว
  เห็นอริยสัจทั้งสี่ ด้วยปัญญาอันถูกต้อง คือ เห็นทุกข์ เห็นเหตุ
  เครื่องให้เกิดทุกข์ เห็นการก้าวล่วงไปเสียได้จากทุกข์ และ
  เห็นหนทาง อันประกอบด้วยองค์แปดประการ อันประเสริฐ
  อันเป็นเครื่องยังผู้นั้น ให้เข้าถึง ความรำงับแห่งทุกข์ นั่นแหละ
  คือ ที่พึ่งอันเกษม นั่นแหละ คือที่พึ่งอันสูงสุด
  ผู้ใด ถือเอา ที่พึ่ง นั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้น จากทุกข์ทั้งปวงได้ (ธ. ขุ. ๔๐)
 
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
ใครที่ยังมีทุกข์อันเกิดจากความกลัว
ก็ขอให้การอ่านบทความนี้ ช่วยบรรเทาเบาคลายความทุกข์นั้นๆไม่มากก็น้อย


หมายเหตุ: ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจในการเขียน จากบทความของท่านพุทธทาสภิกขุ โดยนำมาดัดแปลงและเขียนเพิ่มเติมในไสตล์ของตนเอง ใครสนใจอ่านบทความเต็มๆของท่านพุทธทาสฯ สามารถอ่านได้จากที่นี่ http://www.buddhadasa.com/shortbook/fearghost.html ท้ายนี้ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน ที่สนใจ ใคร่ศึกษาในพระธรรม และมุ่งปฏิบัติแต่สิ่งที่ดี และสิ่งที่ชอบ -/\-